Business

ธุรกิจของคุณ กำลังติดอยู่ที่ตรงไหน ถึงไม่มียอดขาย

รู้สาเหตุธุรกิจของคุณ กำลังติดอยู่ที่ตรงไหน ถึงไม่มียอดขาย

“อะไรเป็นจุดติดของธุรกิจ ที่ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ หรือยอดขายตัน”

วันนี้ Way Maker ที่ปรึกษาการตลาดออนไลน์ จะพาทุกคนมาย้อนคิดพิจารณาในประเด็นนี้กัน
ซึ่งแนวทางนี้ใช้ได้กับธุรกิจทุกขนาด แม้กระทั่ง SME ที่กำลังเข้าสู่ตลาดออนไลน์
และหวังยอดขายให้เติบโตแบบ Exponential

1. Awareness : การรับรู้แบรนด์

คือ การทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Target Group) เห็นแบรนด์ เห็นสินค้าของเรา
ซึ่งปัญหามักจะอยู่ตรงที่ว่า “ลูกค้ารู้จักเราอย่างไร ถึงทำให้ยอดขายไม่โต“

• รู้จักไม่มากพอ

“เราพูดน้อย หรือ ไม่น่าสนใจ” จึงไม่ทำให้เกิดการบอกต่อหรือเป็นที่รู้จัก

• รู้จักแต่ไม่รู้สึก
“ผิดที่เขา (ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย) หรือ ผิดที่เรา (พูดไม่ถูกจุด จี้ไม่ตรงประเด็น)”

• รู้จักแบบผิดๆ
“อะไรคือต้นเหตุ แล้วเราจะแก้ข่าวอย่างไร” เพื่อให้รับรู้เป็นวงกว้าง
เช่น ร้านนี้แพง ร้านนี้ของไม่มีคุณภาพ ร้านนี้หลอกลวง ฯลฯ

• รู้จักคู่แข่งมากกว่า
“คู่แข่งที่ขายสินค้าแบบเดียวกัน ลูกค้ากลุ่มเดียวกัน” มีชื่อเสียงเกินเบอร์ เกินหน้าเกินตา
หา Winning Point ของคุณให้เจอ แล้วจะรู้ว่าไม่ต้องไปแข่งให้เหนื่อย

** ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่จะนำลูกค้าไปสู่ประเด็นในการตัดสินใจ ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าของคุณ **

2. Consideration : ประเด็นในการตัดสินใจ

ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นจุดปราบเซียน เพราะหลายครั้งเมื่อลูกค้าเห็นสินค้าของเราแล้วเกิดความสนใจ
มีคนทักเข้ามาเยอะ แต่สุดท้ายเงียบหาย ไม่มียอดขายเลย

ผมอยากให้คุณจำลองตัวเองเป็นลูกค้าดูว่า
“คุณจะตั้งคำถามอะไร กับสินค้าที่อยู่ตรงหน้า”

• ทำไมฉันต้องเลือกคุณ
“ปัญหาของฉันจะถูกแก้ไหม” อาจจะเป็นความสะดวก ความภูมิใจ ความรัก หรือการเป็นที่ยอมรับ ฯลฯ

• ทำไมฉันไม่เลือกคนอื่น
“มีใครที่ทำได้ดีกว่าคุณไหม” แบรนด์นั้นก็ดูน่าสนใจนะ เขาให้ฉันได้มากกว่าคุณอีก

• ทำไมฉันถึงยังไม่มั่นใจ
“มีอะไรรบกวนใจเราอยู่หรือเปล่า” ไม่ว่าจะเป็นการรับประกัน ค่าส่ง ความปลอดภัย ฯลฯ

• ทำไมฉันต้องยอมจ่าย
“ปัญหาที่คุณแก้ได้ กับราคาที่ฉันยอมจ่าย” มันคุ้มค่าจริงๆ หรอ
ถึงจุดนี้ คุณมีอะไรไปกระตุ้น ทำให้ลูกค้ากล้าควักเงินไหม

** ถ้าลูกค้าตัดสินใจได้ว่า “ฉันจะเลือกคุณ” ให้ขอบคุณพระเจ้าได้เลย คุณเจอคนที่ใช่แล้ว Yeah! ...
แต่ในขั้นตอนต่อไปจะเป็นจุดหักมุมในธุรกิจคุณหรือไม่ **

3. Purchase : การชำระเงิน

มาถึงจุดสำคัญที่คล้ายๆ กับว่า “คุณกำลังจะออกตัววิ่ง แต่เชือกรองเท้าดันหลุดซะนี่”
เพราะในเวลาที่ลูกค้ากำลังจะจ่ายเงิน ได้โปรดอย่าให้อะไรมาขัดขวางเลย

• จ่ายง่าย ขายคล่อง

ช่องทางการชำระเงิน วิธีการจ่าย มีอะไรยากเย็นเกินไปไหม ที่จะทำให้ลูกค้าหัวเสียแล้วเดินจากคุณไป

• จ่ายตอนนี้ คุ้มกว่าเห็นๆ
“เวลาที่ผ่านไป การตัดสินใจย่อมเปลี่ยนแปลง”
ถ้าคุณไม่ทำให้ลูกค้าจ่ายตอนนี้ ก็อย่าตั้งความหวังในอนาคต เพราะลูกค้าพร้อมจะเปลี่ยนใจทุกเมื่อ
คู่แข่งเขาดักรอลูกค้าเราอยู่เสมอนะ

• จ่ายแล้วจบไหม
อย่าให้ลูกค้าต้องคิดเยอะหรือตัดสินใจหลายรอบ
ให้โฟกัสไปที่ความสำเร็จที่ลูกค้าจะได้รับหลังจากจ่าย และไม่มีอะไรจุกจิก

** ขอให้คุณเปรมปรีดิ์กับยอดขายที่ได้มา และใช้ช่วงเวลาที่ดีนี้ทำให้ลูกค้าประทับใจ **

4. Loyalty : ความรัก และความภักดีในแบรนด์

แน่นอนคนบนโลกนี้มีจำกัด ลูกค้าของคุณก็เช่นกัน
“การทำฐานลูกค้าซื้อซ้ำได้จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด
และการทำให้ลูกค้าบอกต่อจะทำให้ธุรกิจคุณเติบโต”

• ฉันจะกลับมาซื้อซ้ำ
เริ่มจากความประทับใจ และมอบโอกาสต่อไปให้กับลูกค้า
ด้วยการติดตาม คอยให้คำแนะนำ หรือทำให้ลูกค้าเห็นคุณอีกในช่วงเวลาที่เหมาะสม

• ฉันจะบอกต่อสิ่งดีๆ ให้กับเพื่อนของฉัน
มีคนที่ประทับใจสินค้าคุณไม่น้อย แต่ก็มีเพียงบางคนที่กล้าบอกต่อและชอบบอกต่อ
คุณจะสร้างโอกาสการบอกต่อเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะ “Word of Mouth” มีผลอย่างมากในธุรกิจ

• ฉันจะปกป้องแบรนด์ที่ฉันรัก
คุณจะแข็งแกร่งมาก ถ้าหากมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งคอยพูดแทนคุณอยู่เสมอ
สิ่งนี้อาจจะเริ่มจากการสร้าง Community ของผู้ใช้สินค้าที่ประทับใจ
และคอยมอบประสบการณ์ดีๆ พร้อมกับความน่าตื่นเต้นให้ลูกค้าอยู่เสมอ

มาถึงตรงนี้แล้ว Way Maker ก็หวังว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อย
ทั้งคนที่กำลังทำธุรกิจ คอยดูแลธุรกิจ หรือแม้กระทั่งคนที่คิดจะเริ่มทำธุรกิจอยู่

หากบทความนี้เป็นประโยชน์ต่อคุณ และคิดว่ามันก็จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนของคุณด้วย
ลองแชร์และแบ่งปันมุมมองกันดูนะครับ
เราหวังว่า “คุณจะได้พบทางออก และเกิดไอเดียใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ”

หากมีข้อสงสัย อยากให้เราช่วยดูแลธุรกิจบนโลกออนไลน์ของคุณ
ก็ทักมาคุยกันได้เลยนะ เราพร้อมให้คำปรึกษา

Author

Methapon E.

Full-time consultant and part-time youtuber. Ready for an adventure, find me on YouTube "Go Deeper ไปไหน ไปให้สุด"