ล้ำกว่า SWOT ไปอีกขั้น กำหนดกลยุทธ์องค์กรด้วย TOWS MATRIX
ทุกคนคงได้ยิน SWOT กันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่พอพูดถึง TOWS หลาย ๆ ธุรกิจกลับไม่รู้จักกัน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว TOWS คือเครื่องมือวิเคราะห์ ต่อจาก SWOT นั่นเองครับ ดังนั้นก่อนที่จะใช้ TOWS ได้ ก็ต้องทำ SWOT ซึ่งเป็นรากฐานให้ดีเสียก่อน
ทำความเข้าใจพื้นฐานของกลยุทธ์ SWOT
การวิเคราะห์ SWOT คือเรื่องของการวิเคราะห์ 4 หัวข้อหลักดังนี้
- S : จุดแข็ง (Strength)
- W : จุดอ่อน (Weakness)
- O : โอกาส
- T : อุปสรรค
จุดแข็งที่ดี คือ จุดที่ลูกค้าต้องการ + คู่แข่งทำไม่ได้ หรือ ทำได้ดีน้อยกว่าเรา
จุดอ่อน คือ จุดที่ลูกค้าต้องการ + เราทำไม่ได้ หรือ ทำได้ดีน้อยกว่าเขา
โอกาส คือ ปัจจัยภายนอก ที่ทำให้เราได้เปรียบธุรกิจอื่นๆ โดยอาจจะได้รับเหมือนกับคู่แข่ง หรือไม่ก็ได้
อุปสรรค คือ ปัจจัยภายนอก ที่ทำให้เราเสียเปรียบธุรกิจอื่นๆ ทำให้ดำเนินการธุรกิจได้ยากขึ้น
ขั้นกว่าของ SWOT กลยุทธ์ที่ควรปรับเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
จุดพลาดของการวิเคราะห์ SWOT ที่พบเจอบ่อย ๆ คือเรื่องของการวิเคราะห์จุดแข็ง (Strength) โดยจุดพลาดหลัก ๆ เลยก็คือ หลายคนมักจะลิสต์สิ่งที่เป็น Strength ออกมาได้จริง ๆ แต่กลับลืมไปว่า Strength ที่ลิสต์ออกมานั้น มันควรค่าแก่การเป็น Strength ได้จริง ๆ ไหม เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด
ถ้า Strength นั้น เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็มี ขนาดคู่แข่งยังทำได้เลย อย่างนี้ไม่ใช่จุดแข็งนะครับ ตัวอย่างเช่น เราส่งเร็วภายใน 1 วัน แต่เจ้าอื่นในตลาด ส่งเร็วภายใน 3 วัน อย่างนี้เราสามารถเคลมได้ว่า เราคือเจ้าที่ส่งสินค้าเร็วที่สุด และนี่คือจุดแข็ง
ถ้าหากว่าส่งเร็วเท่ากัน หรือบางทีคู่แข่งส่งครึ่งวันเท่านั้น ในขณะที่เราส่ง 1 วัน แบบนี้เราเคลมไม่ได้ และไม่ควรเคลมอย่างยิ่งว่าการส่งเร็วเป็นจุดแข็งของเรา เพราะ ณ ขณะนี้ เรากลายเป็นจุดอ่อนไปแล้ว
เราต้องหมั่นอัพเดตอยู่เรื่อย ๆ เพราะบางทีจุดแข็งก็กลายเป็นจุดอ่อนได้ หากคู่แข่งทำได้ดีกว่า โดย TOWS คือกลยุทธ์ที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
วิธีการของ TOWS คือการเอา SWOT มาคูณไขว้กัน
วิธีการวิเคราะห์ของ TOWS คือ การนำเอา SWOT มาคูณไขว้กัน โดยทำให้ได้ 4 สถานการณ์ ดังนี้
กลยุทธ์เชิงรุก (SO)
สถาการณ์กลยุทธ์เชิงรุก (SO) เป็นการใช้จุดแข็งขององค์กรกับโอกาสที่มี มากำหนดเป็นกลยุทธ์ในเชิงรุก ตัวอย่างกลยุทธ์เชิงรุก เช่น เราส่งของเร็ว และตลาดการส่งกำลังขยาย -> กลยุทธ์เพิ่มฐานลูกค้า
กลยุทธ์เชิงแก้ไข (WO)
สถานการ์กลยุทธ์เชิงแก้ไข (WO) เป็นการใช้โอกาสมาเป็นกลยุทธ์ เพื่อแก้ไขจุดอ่อนองค์กร ตัวอย่างกลยุทธ์เชิงแก้ไข เช่น ยิมไม่มีเครื่องปรับอากาศจึงทำให้อากาศร้อน จึงปรับเป็น Hot yoga gym โดยเคลมว่าอากาศเหมาะกับการเล่นโยคะร้อน
กลยุทธ์เชิงรับ (ST)
สถานการณ์กลยุทธ์เชิงรับ (ST) โดยใช้จุดแข็งขององค์กรมารับมือกับอุปสรรค ตัวอย่างกลยุทธ์เชิงรับ เช่น จุดแข็งคือเป็นโรงเรียนพรีเมี่ยม ส่วนอุปสรรคคือ เด็กเกิดน้อยลงก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นโอกาส สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการเลือกโรงเรียนดี ๆ ให้กับลูก เป็นการเชิญชวนให้เขามาหาเรา
กลยุทธ์เชิงป้องกัน (WT)
สถานการณ์กลยุทธ์ป้องกัน (WT) ใช้จุดอ่อนและข้อจำกัดขององค์กร มาพิจารณากำหนดกลยุทธ์ป้องกัน ตัวอย่าง เช่น Startup องค์กรเล็ก จุดอ่อนคือเป็นมวยรองในตลาด ส่วนอุปสรรค คือ พนักงานนิยมไปบริษัทใหญ่ๆ ก็อาจเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง เช่น บริษัทเรามีการสื่อสารได้ทั่วถึงกัน ทำให้คนตัดสินใจเองได้ และเพิ่มสวัสดิการให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดใจพนักงาน เป็นต้น
หลักที่สำคัญของ TOWS คือ ต้องรู้เทรนด์ตลาดก่อนว่า ตลาดต้องการอะไรจริง ๆ กันแน่ จากนั้นเลือกวิธีจัดการให้เหมาะสม ไม่ว่าจะอ่อนหรือแข็ง อุปสรรคมีมากน้อย เราก็สามารถฝ่าฟันไปได้แน่นอน
Next Step หลังจากรู้ TOWS แล้วต้องทำอย่างไรต่อ
หลังจากรู้แล้ว ก็นำกลยุทธ์ที่ได้ในแต่ละข้อมาวางแผนต่อ โดยจากประสบการณ์ ขอแนะนำให้เรียงการทำงานดังนี้
- กลยุทธ์เชิงรุก (SO) แนะนำให้ทำกลยุทธ์นี้ก่อน เพราะใช้แล้วจะช่วยเพิ่มรายได้ เพิ่มฐาน ลูกค้าได้ชัดเจน
- กลยุทธ์เชิงแก้ไข (WO) และ กลยุทธ์เชิงรับ (ST) ให้ทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ได้ โดยเริ่มจากจุดที่เราได้เปรียบ เช่น โอกาสที่เรามีมากกว่า (O) หรือ จุดแข็งที่เรามีมากกว่า (S) เป็นจุดเริ่ม เพื่อให้เราสร้างจุดที่เสมอกับคู่แข่งได้
- กลยุทธ์เชิงป้องกัน (WT) กลยุทธ์ยี้ให้เอาไว้ทีหลังสุด แบบไม่ประมาท แม้เราจะไม่ได้เปรียบในด้านใด แต่ก็ควรคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้เสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งทั้งทางตรง ทางอ้อม หรือ สินค้าทดแทนก็ตามที
ทั้งนี้ยังมีกลยุทธ์อื่นๆให้ศึกษาอีกเพียบ หากอยากเข้าใจจุดแข็งของตัวเราให้ถ่องแท้ แนะนำอ่าน 3C Model หรือ หากอยากรู้ว่าในปัจจัยภายนอก ควรระวังอะไรบ้าง แนะนำ 5 Force
อ้างอิงข้อมูลจาก
- marketing teacher
- annadixon consulting
- Wikipedia